Beyond Creative, We do

FB:Theexplorerphotographer

test

วันเสาร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ขอบคุณที่ติดตาม (Like Me)

นับตั้งแต่หนุ่มน้อยมาร์ก ซักเกอร์เบิร์กได้คิดค้นระบบปฏิบัติการ"หนังสือหน้า" ขึ้นมาตั้งแต่ปี 2004  ทั้งหนุ่มน้อยสาวใหญ่ก็เกิดปรากฏการณ์การเสพติดหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือกันเพิ่มมากขึ้น ระบบปฏิบัติการนี้เสมือนเป็นหน้าต่างในการติดต่อสื่อสารกับคนทั่วๆไปได้ทุกประเภท ยิ่งไปกว่านั้นความสะดวกสบายในการพูดคุยกันผ่านทางกำแพงของแต่ละคนก็ยิ่งทำให้การสนทนานั้นมีสีสันมากขึ้น  บางคนรายงานการเดินทาง สถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหารโปรดของตัวเอง ให้ผู้คนทั้งโลกได้ทราบซึ้งถึงความภาคภูมิใจของตัวเอง บางคนก็แปะคำคม คำบ่น คำก่นด่า คำตัดพ้อ คำง้อ คำงอน คำพูดต่างๆนานา บนพื้นที่กรอบสี่เหลี่ยมเล็กๆ ที่เขียนว่า What's on your mind ?  กรอบสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดเล็กๆกลายเป็นพื้นที่ระบายสีสันของความเป็นตัวเองที่ดีที่สุด หรือจะเรียกเพื่อนคนนี้ที่ไม่เคยทำให้ฉันเหงา ฉันรักเธอ "เฟสบุ๊ค"

ปรากฏการณ์กดไลค์ คอมเม้นท์ หรือฟอลโลว์ กลายเป็นภาพชินตา ถ้าเฟสบุ๊คสามารถทำกำไรจากการที่สมาชิกแปะข้อความ  กดไลค์ คอมเม้นท์ หรือฟอลโล  เฟสบุ๊คคงมีกำไรมหาศาลอย่างแน่นอน



สมัยนี้ผู้คนสามารถเป็นเพื่อนกันได้ง่ายมากๆ แค่เพียงกดไลค์บนหน้าต่างของอีกคน แม้ว่าเราจะอยู่ห่างกันแสนไกล คนละครึ่งโลก แค่เพียงได้เห็นรูปความเปลี่ยนแปลง และความเป็นไปที่เธอแปะลงบนหน้ากำแพงของเธอ ก็ชวนให้อยากรู้จัก อยากทักทาย อยากเป็นส่วนหนึ่งในการโพสต์ข้อความนั้นๆของเธอ

ข้อมูลส่วนตัวกลับกลายเป็นข้อมูลส่วนรวมมากขึ้น สมัยก่อนการกรอกข้อมูลส่วนตัว อย่างเช่น เบอร์โทร ที่อยู่ วันเดือนปีเกิด เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเก็บไว้ความลับไม่กล้าเปิดเผยแก่สาธารณะในวงกว้าง  ก็เพื่อไม่ให้ผู้ไม่หวังดีนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ในทางที่ผิด การเปิดเผยข้อมูลเพียงน้อยนิดก็อาจจะนำไปซึ่งอาชญากรรม หรืออันตรายแก่การล้วงความลับผ่านเข้าสู่ระบบสารสนเทศ  ในเมื่อระบบเครือข่ายทั่วโลกไม่สามารถการันตีได้อย่างเต็มที่ว่าจะเก็บข้อมูลความลับส่วนบุคคลได้อย่างปลอดภัย ไม่อย่างนั้นจะมีข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ว่ามีโจรมือดีแฮกระบบเครือข่ายที่ปลอดภัยที่สุดอย่างระบบธนาคารได้อย่างไรกัน

คนธรรมดาสามัญทั่วไปมักต้องการช่วงเวลาที่เป็นส่วนตัว และเก็บข้อมูลบางอย่างไว้เป็นความลับ ฉะนั้นบางเวลาที่ต้องการแปะข้อความอะไรซักอย่างคงต้องคิดให้รอบคอบก่อนตัดสินใจที่จะแปะข้อความนั้นลงไปบนพื้นที่ส่วนตัว เพราะนั่นหมายความว่าหลังจากที่กดโพสต์ข้อความเหล่านั้นลงไป ข้อมูลจะไหลเข้าสู่ระบบสารสนเทศ เพื่อพุ่งออกสู่สาธารณชนที่กำลังเฝ้าจับตามองการเคลื่อนไหวของคุณอยู่ ดูเหมือนว่าแปะข้อความลงไป จะสร้างให้เจ้าของกำแพงเป็นจุดเด่นของสังคมมากขึ้น การมีตัวตน มีหน้า มีตา เป็นสิ่งที่สังคมกำลังตอบรับความลุ่มหลงที่เกิดขึ้นในใจของทุกคน และจะเริ่มรู้สึกดีมากขึ้น เมื่อได้รับการคอมเม้นท์ หรือกดไลค์กลับมา หรือแท้ที่จริงแล้ว สังคมไทยมีคน "ขี้เหงา" มากขึ้น   เพราะการเรียกร้องให้มีใครซักคนเข้ามาใส่ใจดูแลเห็นอกเห็นใจทุกข์สุขที่เกิดขึ้น มันคือความต้องการแสดงออกถึงความอยากมีตัวตนของตัวเองบนพื้นที่หนึ่งๆในสังคม     ในทางกลับกันถ้าคุณกำลังรู้สึกสนุกสนาน หรือกำลังมันส์กับเกมส์ไดมอนด์ แดชที่กำลังลุกเป็นไฟอยู่ คุณจะดิ้นรนโพสต์ข้อความเพื่อให้เพื่อนมากดไลค์ หรือคอมเม้นท์ไหม ถ้าคุณไม่จบเกมส์ไปเสียก่อน



ระบบปฏิบัติการ"หนังสือหน้า" ทำให้มนุษย์ในปัจจุบันสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันมากขึ้น ดั่งจะเห็นได้จากคอมเม้นท์ถัดลงมาของหัวข้อ What's on your mind ? ที่ทุกๆคนต้องพบเจอในหน้ากำแพงของตัวเองเสมอๆ  เป็นสิ่งที่ดีที่มนุษย์เรายอมรับการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันมากขึ้น แต่ก่อนการปรึกษาหารือกันแต่ละครั้งต้องใช้โทรศัพท์ โทรเลข จดหมาย นกพิราบ คุยกันกว่าจะได้บทสรุปคงใช้เวลานานมากทีเดียว แต่วันนี้เราแค่พิมพ์ข้อความใดๆลงไปในพื้นที่ของคนที่เราอยากใ้ห้เห็น แล้วนั่งรอซักพักไม่นานเกินรอ มันก็จะมีความข้อความเด้งกลับพร้อมที่จะเปิดเผยคำตอบออกมาเอง

แต่ก่อนเราเชื่อกันว่าคำตอบที่ดีที่สุดมักจะมีเพียงหนึ่งคำตอบ Yes/No คนส่วนใหญ่ที่มีความคิดเห็นเหมือนกันก็จะสร้างกฏหนึ่งขึ้นมาบังคับให้คนส่วนน้อยยอมรับ และปฏิบัติตาม  ตัวอย่างสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจากการลุกฮือขึ้นมาต่อต้านรัฐบาลหลายๆประเทศในปัจจุบัน ทำไมสมัยก่อนพวกเขาสามารถดำรงชีวิตอยู่ใต้กฏเหล็กอันสูงสุดของรัฐบาลได้ แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนไปสังคมเปลี่ยนแปลง การตั้งคำถามถึงความเป็นอยู่แบบเดิมจากกฏที่ถูกต้อง   อาจจะไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาจะสามารถอดทนอยู่กับกฏเหล็กที่มีแค่คำตอบเพียงถูก หรือผิดเพียงเท่านั้น   หรือจริงๆแล้วคำถามนั้น ยังมีบางคำตอบที่มีสีขาว ดำ เทาอ่อน เทาเข้ม ขาวสว่าง ขาวมัวๆ ดำสนิท ดำปิ๊ดปี๋    

ปัจจุบันเรามีสื่อและเทคโนโลยีที่ทันสมัย คำตอบของคำถามจึงเกิดความหลากหลายขึ้นในหมู่ชน ความคิดจากคนหลายคน รวมเป็นความแตกต่างกันอย่างกว้างขวาง ถ้าจะสร้างสมการซักหนึ่งตัวอย่างดังนี้

ล้านคน = ล้านชีวิต = ล้านความคิด = ล้านความต่าง

หากตอนนี้มีคำถามปลายเปิด ที่ไม่ได้มีแค่ชอยส์ ก ข ค ง เหมือนตอนประถม หรือลองนึกภาพสมัยเรียนที่คุณสอบข้อสอบอัตนัย คำตอบที่คุณต้องใส่ลงไปต้องอยู่ในจุดไข่ปลาลากยาวๆ  คนหนึ่งคนมีสิทธิ์ที่จะคิด เพื่อเขียนคำตอบลงไป หลังจากประกาศคะแนนว่าถูก/ผิด  คำตอบของทุกคนอาจจะไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องที่สุด หรือผิดมากที่สุด  (... แต่คำตอบที่ถูกนี้มันถูกใจคนตรวจข้อสอบเท่านั้นเอง....)  บางคำตอบอาจที่ดีที่สุดเมื่อมันอยู่ ณ เวลาหนึ่งๆ ถ้าเคยเรียนเคมีตอนมัธยม เรื่องทฤษฎีของอะตอม "ตามทฤษฏีอะตอมของดาลตันกล่าวว่าอะตอมเป็นทรงกลมแบ่งแยกไม่ได้ แต่ถัดมาไม่นานก็มีคนค้นพบว่าอะตอมยังประกอบไปด้วยนิวตรอน โปรตรอน และอิเลคตรอน" ฉะนั้นคำตอบที่ถูกต้องอาจจะไม่ใช่คำตอบของคำบอกเล่าของคนที่อยู่มาก่อนเสมอไป เพราะคำตอบ และวิธีการหาคำตอบกำลังพัฒนาอย่างควบคู่กันไปนั่นเอง

วันนี้สังคมเราเปิดกว้างมากขึ้นให้คนสามารถแสดงความคิดเห็นออกสื่อสาธารณะ และทำให้คนเรายอมรับฟังความเห็นของคนอื่นมากขึ้น เพื่อมาปรับปรุงแก้ไข หรือหาข้อสรุปที่เหมาะสม  แต่ดาบมักจะมีสองคม หากเรายังเลือกที่จะเสพแต่ความคิดเห็นที่เหมือนกับเราเท่านั้น และกีดกั้นความคิดเห็นต่างๆนานาที่ขัดต่อความรู้สึกนึกคิดของเรา ก็จะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทางที่เหมาะสมได้เลย   นั่นหมายความว่าการกำเนิดขึ้นของ "เฟสบุ๊ค" ไม่ได้ช่วยให้คนในสังคมก้าวไปในทางที่ดีขึ้น อย่างที่ผมกำลังมองเห็นความตั้งใจของ หนุ่ม มาร์ก ซักเกอร์เบิร์ก ที่กำลังต้องการให้สังคมประเทศไทยคุยกันมากขึ้น ยอมรับความต่าง ไม่แตกแยกกัน เพราะอย่างน้อยการนำความคิดเห็นของแต่ละคนมารวมกัน และเข้าใจบทบาทของกันและกัน มันเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถจะขับเคลื่อนความมั่นคงของประเทศไปสู่ความสุขสงบได้เร็วไวยิ่งขึ้น

หากวันนั้นมาถึง คงจะเกิดสมการสมดุลประหลาดๆ ที่ว่า

ล้านคน = ล้านชีวิต = ล้านความคิด = ล้านความต่าง = หนึ่งความสามัคคี



ความสุขที่โดดเดี่ยว
มีค่าน้อยกว่าความทุกข์
ที่มีเพื่อนร้องให้ไปพร้อมกัน


ความสามัคคี
เป็นลมหายใจของ...
การอยู่ร่วมกัน

เป็นอันหนี่งอันเดียวกัน
ถกเถียงกันอย่างสร้างสรรค์
กล้าที่จะขอโทษและให้อภัยกัน




รูปภาพมดงานสวยๆ พร้อมด้วยคำคมดีๆ (ที่ขอยืมมาโดยไม่ได้บอกกล่าว)
Credit (Photo) by : SWEETCRISIS







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

มิงกะลาบา ความหวังใหม่ใต้เปลือกตา

มิงกะลาบา ความหวังใหม่ใต้เปลือกตา

ล้านนาแค่ขยิบตา

ล้านนาแค่ขยิบตา
บันทึกการเดินทางจำนวนสิบสี่ตอนที่จะเปลี่ยนมุมมองทุกการเดินทางให้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

Ads

Most Popular