ช่วงนี้มีหนังเรื่องหนึ่งที่ชวนให้ทึ้งอึ้งเสียวสันหลังกันไป
ภาพยนตร์ล้ำจินตนาการเกิดคาดเดา
เพราะบางฉากต้องคอยกลับหัวดูให้กับความเข้าใจไปในสมองส่วนประมวลภาพกลับหัว
ภาพยนตร์ที่นำเอาหลักการทางวิทยาศาสตร์อย่าง "แรงโน้มถ่วง" มาสร้างเป็นเรื่องเป็นราวผูกเงื่อนชี้ปมสลับซับซ้อนผนวกเข้ากับความรักของชายหญิงต่างชนชั้น ที่เหมาะสำหรับขาละครหลังข่าวที่มีแม่ผัวลูกสะใภ้เป็นตัวละครหลัก
หลายคนคงกำลังเดาออกว่าผมกำลังพูดถึงเรื่อง "UPSIDE DOWN"
อดัมและอีเด็น ชายหญิงที่อาศัยอยู่ร่วมกันบนโลกที่กลับตาลปัตร
ทั้งคู่กำลังทำเรื่องมหัศจรรย์เพื่อให้เรื่องราวของความรักไร้น้ำหนักดำรงอยู่
โดยการพยายามข้ามกฏเกณฑ์ที่โลกทั้งสองบัญญัติข้อห้ามเอาไว้
"แรงดึงดูด" ถูกนำมาใช้เป็นกฏเกณฑ์ข้อห้ามในการแบ่งแยกชนชั้น
เมื่อโลกที่อดัมอาศัยอยู่ถูกเรียกว่าชนชั้นแรงงาน
กลับกันโลกของอีเด็นถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มชนชั้นสูง
ตามข้อห้ามแล้วทั้งคู่มิอาจจะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้ ไม่ใช่เพียงแต่กฏเกณฑ์ของสองโลกเท่านั้น แต่แรงโน้มถ่วงยังมีผลให้ทั้งคู่ไม่สามารถจูงมือเดินกันได้เหมือนคนปกติ
ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้ผมย้อนกลับไปนึกถึงเรื่องที่ อาจารย์ท่านหนึ่งเคยพูดถึงการคบคน โดยมีชื่อเรื่องว่า "รักคนที่เดินเท่าเรา"
อาจารย์บอกเอาไว้ว่า
อย่าวิ่งตามคนที่นำหน้าเรามากไป เพราะจะทำให้เราเหนื่อย
อย่ามัวรอคนที่เดินตามหลังเรามากไป เพราะจะทำให้เราเสียเวลาและโอกาส
เราควรจะเลือกเดินไปพร้อมคนที่เดินด้วยความเร็วพอๆกับเรา
ไม่แปลกนักถ้าคนที่เดินด้วยความเร็วเท่ากันมักจะเห็นอะไรที่ตกหล่นอยู่สองข้างทางที่เหมือนกัน ทัศนคติที่คล้ายกัน มีความคิดคล้ายๆกัน การเดินทางไปด้วยกันก็ไม่ต้องปรับเปลี่ยนอะไรมากมายนัก
แต่บางคนที่พยายามดิ้นรนออกวิ่งอย่างสุดแรง
เพื่อตามหาบุคคลที่อยู่ในสถานะที่สูงกว่าตัวเอง
หรือบางคนก็ยอมหยุดสถานะตัวเองเอาไว้ เพื่อรอให้คนที่เดินช้ากว่าเข้ามาในชีวิต
หากวันหนึ่งความเร็วที่แตกต่างนำทางให้มาพบกัน
เครื่องปรุงสำคัญที่จะทำให้ทั้งสองเดินไปถึงจุดหมายร่วมกันได้นั้น
คงหนีไม่พ้นกระปุกเครื่องปรุงที่เขียนฉลากข้างขวดว่า "การให้อภัยกัน"
การให้อภัยกันเป็นเครื่องปรุงรสดีที่ทำให้คนทั้งสองที่เดินด้วยความเร็วที่แตกต่างกลับมาจูนความเร็วให้เท่ากันได้อีกครั้ง
"ผิดกี่ครั้งไม่สำคัญ สำคัญว่าจะให้อภัยกันเท่ากับจำนวนครั้งที่ผิดหรือไม่"
ประโยคหล่อๆที่ผมเคยได้ยินมาจากรุ่นพี่ท่านหนึ่ง และวันนี้ทั้งคู่ยังคงครองรักกันอย่างนานเท่านาน
หากอดัมและอีเด็นมาอ่านประโยคย่อหน้าที่หกข้างต้นเข้า
ทั้งคู่คงจะเดินเข้ามาต่อว่าต่อขานผมเอายกใหญ่ว่าผมกำลังกีดกันความรักของทั้งคู่ แต่ผมจะพยายามอธิบายทั้งคู่กลับไปอีกครั้งว่า
"พวกเธอไม่ได้ใช้ความเร็วที่เดินแตกต่างกันหรอก
แค่พวกเธอใช้ความเร็วที่เท่ากันนี้เดินกันคนละมุมแบบ 90 องศา
สองข้างทางของพวกเธอมันเลยโคตรดูสวยงามกว่าของใครๆ"
และเรื่องราวที่สวยงามนี้ก็บังเกิดเป็นนิยามรักปฏิวัติสองโลก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น