Beyond Creative, We do

FB:Theexplorerphotographer

test

วันอาทิตย์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

Known About Memory




(1)
"เคยสงสัยไหม ว่าทำไมเราถึงจดจำเรื่องราวที่เกิดขึ้นในตอนเด็กๆไม่ได้"

รูปใบเก่า-ภาพใบเดิมที่มีพี่ชายของฉันยืนจังก้า ในวันวัยที่ฉันอายุไม่ถึงสี่ขวบ ฉันยังคงเป็นเพียงเด็กน้อยตัวเล็กๆที่ถูกโอบอุ้มอยู่ในอุ้งมือของแม่ ข้างๆแม่ยังคงประกอบไปด้วยชายหนุ่มที่ดูสมาร์ท ผู้ที่ดูเก่งฉกาจ เพราะเขานั้นคอยดูแลครอบครัวของเรามาตั้งแต่ครั้นยังจำความได้

ยิ่งคิด-ยิ่งกลับไปทบทวนถึงช่วงเวลาที่ผ่านพ้นนั้นไปนานเท่าไร ก็ดูเหมือนว่าความทรงจำในช่วงนั้นจะเป็นภาพที่เลือนลางเหลือเกิน ฉากหลังของรูปภาพใบนี้เป็นน้ำตกใสๆ ที่พอจะนึกและประกอบภาพได้ว่าสถานที่นี้อยู่ที่ใด แม้จะจดจำเรื่องราวและบรรยากาศที่ดูอิ่มเอมหัวใจไว้ไม่ได้ทั้งหมด แต่รูปภาพเก่าๆใบนี้ ก็ทำให้เราได้รู้สึกว่า กาลครั้งนั้นที่เคยเกิดขึ้นมาแสนนาน ทำให้หัวใจของเราในวันนี้รู้สึกมีความสุขไม่ต่างจากวันนั้นเลย

หากจะอ้างอิงกันตามหลักทางวิทยาศาสตร์เรื่องการพัฒนาการของสมอง สมองส่วนฮิปโปแคมของเด็กในวัยช่วง 2- 4 ปีนั้นยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ หรือเราจะเรียกความจำช่วงนี้ว่าเป็น Semantic memory หรือการจดจำความหมาย เช่นการจดจำใบหน้า และวิธีทำอย่างไรถึงจะได้ขนม ในวัยนี้เป็นช่วงที่สมองกำลังเริ่มลำดับ-เชื่อมโยงข้อมูลที่กระจัดกระจายเข้าไว้ด้วยกัน นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เมื่อเราเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ความทรงจำส่วนนั้นจึงปะติดปะต่อกันได้อย่างไม่ชัดเจน

ภาพเก่าๆหวนให้นึกถึงบรรยากาศใหม่ๆ เมื่อเปรียบเทียบกับเรื่องราวในอดีตกับปัจจุบันแล้ว คล้ายกับว่าการเป็นเด็กน้อยในวันนั้น มันช่างส่งมอบความสุขให้ได้มากกว่าการเติบโตมาเป็นการใช้ชีวิตแบบผู้ใหญ่เป็นไหนๆ ไม่ต้องมีความรับผิดชอบที่มากมายทั้งๆที่บางเรื่องก็ไม่จำเป็น ไม่ต้องแข่งขัน-แก่งแย่ง-ชิงเด่นกับผู้คนอีกตั้งมากมาย ในวัยเด็กที่ความฝันของเราสรรค์สร้างได้ทุกอย่าง และความรักจากคนรอบข้างก็ดูน่าประทับใจกว่าในทุกช่วงตอนของชีวิต

หลายๆครั้งที่เราเคยคิดอยากกลับไปเป็นเด็ก เพียงเพราะเราไม่อยากไปจดไปจำในเรื่องราวมากมาย บางครั้งบางตอนมันก็เข้ามากระทบกระเทือนจนสะเทือนหัวใจไปนมนาน หากเราเข้าใจการระบบการทำงานของสมองจริงๆแล้ว เราจะรู้ว่าการความสามารถพิเศษของผู้ใหญ่นั้น คือการเลือกที่จะ "จดจำ" หรือ "ปล่อยวาง" สิ่งที่เข้ามากระทบกระเทือนนั้นด้วยจัดลำดับความคิดของตัวเองให้ชัดเจน

Episodic memory หรือความจำที่อาศัยประสบการณ์ เช่น เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่ไหน เมื่อไร และเกิดอะไรในตอนนั้น ความจำแบบนี้จะเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่เราอายุสี่ขวบขึ้นไป ข้อมูลต่างๆจะถูกนำไปเก็บเอาไว้ที่สมองส่วน cortex หรือเปลือกสมองในส่วนต่าง ๆ จากนั้นสมองส่วนฮิปโปแคมปัสซึ่งเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับการประมวลผลความจำ จะทำการเชื่อมโยงส่วนต่างๆเข้าด้วยกัน และเกิดเป็นความทรงจำขึ้นมา

(2)
"แล้วทำไมคนเรามักจำเรื่องไม่ดีได้นานกว่าเรื่องดีดี"

ก่อนอื่นเรามาพบกับความพิศวงบางอย่างของสมองที่มนุษย์เราต่างไม่เคยรู้มาก่อน แต่ก็ได้รับการพิสูจน์จากนักวิทยาศาสตร์มาแล้ว ที่เว็บไซต์ huffingtonpost.com กับ 5 สิ่งพิศวงของความทรงจำ

1.How doorways destroy memory
ประตูทำลายความทรงจำ

- Gabriel Radvansky นักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยนอเตอร์เดม ได้ให้ความหมายของการข้ามเขตแดนของประตูว่าเป็นดั่งเขตกักกันให้กับความจำในเหตุการณ์หนึ่งๆ เมื่อเราเดินผ่านประตูห้องหนึ่งเข้าไป เราก็จะจดจำเรื่องราวที่เกิดขึ้นนั้นได้เป็นฉากๆ และในขณะเดียวกันเราอาจหลงลืมว่าเรากำลังเข้ามาห้องนี้เพื่อทำอะไร เช่น การตั้งใจจะเข้ามาหยิบของสิ่งหนึ่ง แต่สุดท้ายก็ลืมว่าจะเข้ามาในห้องนี้เพื่อทำอะไร

2.Mind-erasing activities
กิจกรรมบางอย่างลบความทรงจำ

- กิจกรรมบางอย่างการทำให้เราเป็นโรคความจำเสื่อมชั่วขณะ "transient global amnesia" จากรายการกิจกรรมการมีเพศสัมพันธ์นั้นสามารถทำให้ลืมความจำไปได้ชั่วขณะ แต่เพียงไม่กี่ชั่วโมงความทรงจำนั้นก็จะกลับมาเป็นปกติ แต่บางครั้งก็อาจจะไม่ชัดเจนเหมือนเดิม

3. Memories can live on, even if we can’t access them
ความทรงจำของเราจะยังคงอยู่เสมอ แม้เราจะจำมันไม่ได้แล้ว

- ในปี 2013 มีการรายงานถึงกรณีน่าประหลาดเมื่อผู้หญิงคนหนึ่งได้เห็นภาพหลอนเกี่ยวกับเพลงที่เธอไม่รู้จัก แต่เรื่องอื่นๆกลับจำได้ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ได้อธิบายว่าผู้หญิงคนนี้มีแนวโน้มว่าจะเคยรู้จักเพลงนี้มาก่อน แต่ก็ลืมมันไป ซึ่งในความจริงแล้วความทรงจำไม่ได้หายไปไหน แต่แค่เพียงถูกเก็บเอาไว้ในรูปแบบอื่น ๆ ที่สมองเข้าถึงได้ แต่เราอาจไม่สามารถเข้าถึงมันได้ โดยเป็นไปได้ว่าสมองของเธออาจจะทำการแยกส่วนของความทรงจำเกี่ยวกับเพลง ๆ นี้เอาไว้ในรูปแบบอื่นที่ทำให้เธอไม่สามารถเข้าถึงได้

4. Brains may be programmed to forget infancy
สมองถูกตั้งโปรแกรมให้ลืมเรื่องในวัยแรกเกิด

- เคยสังเกตกันหรือเปล่าว่าเราไม่สามารถจำเรื่องราวเมื่อตอนที่เรายังเด็กมากได้เลยสักนิด จะจำได้ก็ช่วงที่เข้าโรงเรียนอนุบาลแล้ว นั่นก็เป็นเพราะว่า ความทรงจำเหล่านั้นเป็นความทรงจำในช่วงวัยแรกเกิดซึ่งจะค่อย ๆ ลืมเลือนไปเมื่อเราโตขึ้น ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ได้วิเคราะห์สาเหตุไว้ว่า เนื่องจากในช่วงแรกเกิดเรายังไม่มีทักษะทางภาษาจึงทำให้เราไม่สามารถจำสิ่งต่าง ๆ ในช่วงอายุนั้นได้ แต่งานวิจัยล่าสุดแสดงให้เห็นว่าที่เราไม่สามารถจำความทรงจำในช่วงปีแรกๆ ของชีวิตได้ นั่นก็เป็นเพราะว่าสมองได้เติบโตและพัฒนาหลังจากช่วงอายุวัยแรกเกิดจึงได้มีการสร้างเซลล์เพื่อลบความทรงจำในช่วงดังกล่าวไป เพื่อรองรับความทรงจำในช่วงที่โตขึ้นนั่นเอง

5. Brain injuries may cause forgetting
การบาดเจ็บของสมองอาจเป็นสาเหตุของการเสียความทรงจำ

- มีการศึกษาพบว่าการสูญเสียความทรงจำอาจเกิดขึ้นได้เมื่อความทรงจำบางอย่างเกิดขึ้นในช่วงก่อนอาการบาดเจ็บที่สมอง ซึ่งความจำนั้นไม่นานพอที่จะทำให้สมองเก็บความทรงจำช่วงนั้นไว้ โดยส่วนใหญ่การสูญเสียความทรงจำจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อสมองในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดการ ดูแลรักษา และการเรียกคืนความทรงจำได้รับการบาดเจ็บ ซึ่งอาการเหล่านี้อาจนำไปสู่ภาวะความจำเสื่อมได้ หนึ่งในกรณีศึกษาที่น่าสนใจนั่นก็คือผู้ป่วยคนหนึ่งที่ได้รับการรักษาโรคลมบ้าหมูด้วยการนำสมองส่วนฮิปโปแคมปัสออกไป สามารถรื้อฟื้นความทรงจำและสร้างความทรงจำใหม่ ๆ ได้ และอีกกรณีหนึ่งก็คือคนไข้ที่เกิดการติดเชื้อไวรัสในสมอง ทำให้เกิดภาวะสมองอักเสบ แต่ก็สามารถฟื้นฟูความทรงจำได้ใหม่เช่นเดียวกัน

(3)
จากห้ารายงานและการทดลองข้างต้น มนุษย์มีโอกาสที่จะ "ลืม" ได้ง่ายกว่าการ "จำ" เสียอีก แต่ทำไมเรายังจดจำแต่เรื่องไม่ดีเอาไว้ให้รู้สึกแย่กันไปใหญ่ หรือว่าอาจจะเป็นเพราะว่าเหตุการณ์หนึ่งในนั้น มันกระทบกระเทือนจิตใจของเราอยู่แค่ชั่วขณะ เมื่อทำใจ ยอมรับ และก้าวเดินต่อไปได้นั้น เราจะลืมเหตุการณ์แย่ๆเหล่านั้นได้เอง

ผ่านมายังไม่ถึงหนึ่งอาทิตย์ดี ที่ผมจำต้องเผชิญกับสภาวะที่ผู้คนรอบข้างเริ่มจิตตก ในฐานะผู้นำทีมที่ดี ผมจึงต้องเรียกน้องๆเหล่านั้นมาอธิบายและปลดเปลื้องความรู้สึกทั้งหมดที่เขาอึดอัด ประเด็นหลักของการทำงานในออฟฟิศก็คงหนีไม่พ้นเรื่อง "พนักงานที่ทำงานมานานแล้วหมดไฟ" เนื่องจากพวกเขาขาดทรัพยากรที่เพียงพอในการทำหน้าที่ที่ดี แทนที่พวกเขาจะรู้สึกว่าทำให้โลกใบนี้ดีขึ้น กลับต้องจมอยู่กับการต่อสู้ต่อระบบการทำงานที่เฮงซวย ไร้แบบแผน และดูว่าเหมือนจะไม่มีวันจบสิ้น

การสนทนาแบบหนึ่งต่อหนึ่งดูเหมือนจะมีความหมาย เพราะตัวผมเองก็ต้องการจะแชร์จุดมุ่งหมายของการมาทำงานในบริษัทนี้เช่นกัน บางครั้งเราก็ไม่มีสิทธิพิเศษเหนือกว่ากฏของการทำงานที่บริษัทตั้งเอาไว้ แต่ถ้าเรานั้นมีโอกาสที่ดีกว่า ก็ขอให้ใช้สิ่งเลวร้ายที่ผ่านเข้ามาในวันนี้ เป็นดั่งขั้นบันไดและผลักดันให้เราเดินก้าวหน้าต่อไปเจอสิ่งที่รักในเร็ววัน

"ไม่ใช่เพียงแค่การทำงานเพียงเท่านั้น-แต่การใช้ชีวิตต่างหากที่สำคัญยิ่งกว่า เพราะการทำงานของเราไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิต แต่ก็อยากให้เรารู้ไว้ว่า การทำงานนี้ มันก็กินเวลาชีวิตเราไปตั้งครึ่งหนึ่งโดยไม่รู้ตัวเสียแล้ว การเลือกอยู่กับการทำงานที่รัก มันฟังดูแล้วยาก และไม่รู้ว่าครั้งหนึ่งในชีวิตนี้เราจะค้นพบมันเมื่อไร แต่ถ้าวันหนึ่งเราได้ค้นพบมันแล้ว ก็ขอให้ตั้งใจและมีความสุขไปกับงานนั้นอย่างแท้จริง"

การสนทนาในวันนี้จบลงด้วยความเข้าใจที่อาจจะไม่เต็มร้อย แต่ผมกลับรู้สึกว่าตัวเองนั้นได้เข้าใจเป้าหมายและความรู้สึกของตัวเองได้อย่างชัดเจนขึ้น หากวันใดวันหนึ่งที่บริษัทไม่สามารถส่งมอบทรัพยากรที่เพียงพอในการทำหน้าที่ที่ดีได้อย่างแท้จริง เราทุกคนมีโอกาสมากมายที่เหลือเฟือทั้งชีวิต เพื่อเสาะหาความต้องการที่เหมาะสมกับตัวเอง และอย่าลืมการสานต่อความฝันในวันนั้นให้กลายเป็นความจริง

เพราะคนเรามักจำเรื่องไม่ดีได้นานกว่าเรื่องดีดี แต่สักวันหนึ่งมันจะเลือนหายไปเมื่อมีสิ่งใหม่มาทดแทน หลากหลายความทรงจำถูกฝังแน่นจนลึกลงไปเป็นความจำ แท้จริงแล้วมนุษย์เรานั้นสามารถเก็บเกี่ยวความทรงจำที่แสนดีได้มากกว่าเหตุการณ์ที่เลวร้ายเสียอีก อาจเป็นเพราะว่าความสุขนั้นมีค่ายิ่งกว่า หากเราทุกคนเกิดมาบนโลกใบนี้ก็เพื่อมีชีวิตที่ดี และนั่นแหละครับ คือ เป้าหมายอันสูงสุดในชีวิต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

มิงกะลาบา ความหวังใหม่ใต้เปลือกตา

มิงกะลาบา ความหวังใหม่ใต้เปลือกตา

ล้านนาแค่ขยิบตา

ล้านนาแค่ขยิบตา
บันทึกการเดินทางจำนวนสิบสี่ตอนที่จะเปลี่ยนมุมมองทุกการเดินทางให้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

Ads

Most Popular